เอกนัฏแนะ 5 ข้อแก้ปมภาษีทรัมป์-เร่งปฏิรูปอุตฯก้าวทันโลกยุคใหม่

15 กรกฎาคม 2568
เอกนัฏแนะ 5 ข้อแก้ปมภาษีทรัมป์-เร่งปฏิรูปอุตฯก้าวทันโลกยุคใหม่

เอกนัฏออกโรงแนะ 5 ข้อแก้ปมภาษีทรัมป์ควบคู่การเจรจา ชี้ต้องเร่งปฏิรูปอุตสาหกรรมให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ไม่ว่าผลการเจรจาจะเป็นอย่างไร

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (ขิง)) เกี่ยวกับกรณีที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้า 36% จากไทย ว่า “ดัมพ์” น่ากลัวกว่า “ทรัมป์”

ตนเชื่อมาตลอดว่าการจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ จะเป็นการแก้ปัญหา รับมือการขึ้นภาษีแบบ All Win และยั่งยืน

กรณีภาษี 36% ที่สหรัฐกำลังจะประกาศบังคับใช้กับไทยในวันที่ 1 ส.ค. ได้สร้างความกังวลใจให้กับประเทศไทยไม่น้อย

สหรัฐเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศไทย ที่ส่งออกสินค้าไปขายมากที่สุด มูลค่ากว่า 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
การเจรจาขอลดภาษีไม่มีความแน่นอน  ตัวอย่างเช่น ประเทศเวียดนามที่เหมือนจะดีลได้ 20% แต่ยังโดน 40% สำหรับสินค้าผ่านทางตามการตีความของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ถูกส่งออกไปใน 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นภาษี Reciprocal Tax เนื่องจากสหรัฐประกาศใช้อัตราภาษีเฉพาะรายการ เป็นลักษณะ Sectorial Tariff อัตราเดียวกันหมดทั่วโลกไปแล้ว คือ

  • ชิ้นส่วนยานยนต์ให้เก็บที่ 25% 
  • เหล็กโดน 50% ไม่ว่าจะนำเข้ามาจากประเทศไหน 
  • ที่สำคัญ คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท เช่น ฮาร์ดดิสก์ ได้รับการเวฟภาษีนำเข้าเป็น 0%

ในส่วนนี้มีมูลค่าราวๆ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากส่งออก 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

หลายบริษัทที่ผลิตสินค้าในกลุ่มที่ว่านี้ ได้ผูกกระบวนการผลิตเข้ากับห่วงโซ่อุปทานในประเทศและรอบประเทศไทย เพื่อขายของทั่วโลก จนขยับย้ายฐานการผลิตออกไปยากมาก

ส่วนอีก 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เหลือ ที่กำลังจะโดนขึ้นภาษีนั้น

ก่อนอื่นฝ่ายเจรจาควรรับรู้ว่า

หากเป็นวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือเครื่องจักร ที่จะนำไปประกอบหรือผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป จะทำให้สหรัฐเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน เสี่ยงย้ายฐานการผลิตออกไปนอกสหรัฐ มีโอกาสสูงที่สหรัฐจะต้องปรับลดภาษีหรือออกมาตรการชดเชยภาษีนำเข้าในที่สุด

ส่วนนี้มีมูลค่าอีกเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่จะกระทบโดยตรงคือกลุ่มสินค้าสำเร็จที่ส่งออกจากไทยไปบริโภคที่สหรัฐ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ เครื่องประดับ อาหารแปรรูป ที่มีมูลค่าราวๆ 24,000 จาก 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไม่ถึงครึ่งของมูลค่าทั้งหมด

แต่ในจำนวน 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้เอง

บาง Sector เช่น การผลิตล้อยางส่งออก ก็เป็นบริษัทที่เป็นสัญชาติไทยจริง หรือเป็นการร่วมทุนกับไทย ไม่ถึง 1 ใน 5 ของมูลค่าที่ส่งออกไป

บาง Sector ถึงจะส่งออก แต่มีการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนจำนวนมาก Local Content ตํ่า จนส่วนต่างมูลค่าส่งออกลบนำเข้า แทบไม่เหลือ 

หากลบส่วนนี้ออกไปอีกอย่างน้อย 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐกู้มูลค่ากลับคืนมาจากศูนย์เหรียญ เท่ากับชดเชยมูลค่าที่จะสูญเสียไปจากการส่งออกที่ได้รับผลกระทบ 

แถมจะเป็นการช่วยแก้ปัญการเกินดุลการค้าที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าอีกด้วย

ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งมือทำ เพื่อเซฟอุตสาหกรรมไทย ประกอบด้วย

  • จัดการกับอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ รวมไปถึงโรงงานเทา โรงงานเถื่อน ที่ผลิตสินค้าด้อยคุณภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อม แยกตัวออกจากห่วงโซ่อุปทานไทย ไม่สนใจ Local Content ฉวยโอกาสสูบมูลค่าออกจากเศรษฐกิจไทย ทำลายชื่อเสียง และความเชื่อมั่นของนักลงทุน
  • ป้องกันการดัมพ์ตลาด โดยการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงสินค้าศูนย์เหรียญตํ่ามาตรฐานที่ผลิตในไทย ถูกกำแพงภาษีจากตลาดสหรัฐ เลยมาดัมพ์ขายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก ล้อยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
  • สนับสนุนให้คนไทยช่วยซื้อของดีที่คนไทยผลิต รัฐบาล กองทัพ โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร ช่วยกันอุดหนุนสินค้าดีๆ ที่ผลิตโดยคนไทย
  • โอบอุ้มธุรกิจขนาดเล็ก SMEs ลดต้นทุน ลดความล่าช้าที่เป็นอุปสรรคจากส่วนราชการ ส่งเสริมให้ใช้ Technology และ Innovation ช่วยลงทุนในเรื่องของ Digital Transformation และ Green Transformation หาตลาดให้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • ผูกห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) ที่มีมูลค่า ให้ลึกให้ละเอียดกว่าเดิม เติมมูลค่า ลดขั้นตอน ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ทำให้เร็ว สะดวก และโปร่งใส แต่ต้องมีความรับผิดชอบ

ทั้งหมดทำควบคู่กับการเจรจา และไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ในสถานการณ์ที่โลกแปรปรวนเช่นนี้ เป็นโอกาสของประเทศ ที่จะเร่งปฏิรูประบบอุตสาหกรรมให้กลับมาแข็งแกร่ง เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสำคัญทันกับโลกยุคใหม่ในอนาคต


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.